โรงเรียนพระปริยัติธรรม:โรงเรียนของพระภิกษุสามเณร

โรงเรียนพระปริยัติธรรม:โรงเรียนของพระภิกษุสามเณร


โรงเรียนพระปริยัติธรรม ในจังหวัดเชียงราย กระจายอยู่แทบจะทุกอำเภอและบางอำเภอก็มีอยู่ถึง 2 แห่งเลยทีเดียว เช่น อำเภอเมือง มีโรงเรียนพุทธิวงศ์วิทยา และ โรงเรียนวัดฝั่งหมิ่นวิทยา เป็นต้น โดยรวมทั้งหมดแล้ว มี 21 แห่ง และที่พิเศษก็คือ มีส่วนของมหายานอีกหนึ่งแห่ง นั่นคือ โรงเรียนวัดหมื่นพุทธเมตตาพุทธาราม ตั้งอยู่ที่ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ซึ่งก็ศึกษาพระปริยัติธรรม เช่นเดียวกัน 

คำว่า ปริยัติธรรม เป็นคำกลางๆ ที่ใช้เรียกการศึกษาทางพระพุทธศาสนาของประเทศไทย เพราะโดยคำแล้วก็เป็นการบ่งบอกว่า เป็นการเรียนธรรมะ ซึ่งสามารถจะเรียนได้ทั้งคฤหัสถ์ทั่วไปและบรรพชิต ซึ่งสามารถจัดได้หลายรูปแบบเช่น สายบาลี สายสามัญ สายปฏิบัติ เป็นต้น

จากเริ่มแรกของการเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ได้มีนโยบาย การเรียนสำหรับพระภิกษุสามเณรว่า มี "ธุระ" อยู่ 2 อย่าง นั่นคือ
-คันถธุระ (อ่านว่า คัน-ถะ-ทุ-ระ) คือ การเรียนธรรมในส่วนที่เป็นความรู้ ซึ่งจะได้เข้าใจอย่างถ่องแท้และนำไปปฏิบัติต่อไป
-วิปัสสนาธุระ (อ่านว่า วิ-ปัส-สะ-นา-ทุ-ระ) คือ การนำความรู้ที่ได้เรียนมา ปฏิบัติให้ถูกต้อง เมื่อปฏิบัติไปแล้วจะได้ผลอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับบุคคลว่ามีความแน่วแน่อย่างไร

ตามหลักของพระพุทธศาสนาแล้วการปฏิบัติธรรมจัดเป็น 3 ลำดับ ซึ่งถ้าขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปแล้วก็เหมือนกับพระพุทธศาสนาก็สิ้นสูญไปด้วย นั่นคือ 
-ปริยัติ การศึกษาพระธรรมวินัย
-ปฏิบัติ นำเอาความรู้ที่ศึกษานั้นมาปฏิบัติ
-ปฏิเวธ เป็นผลจากการปฏิบัติที่จะได้รับ (เช่น ได้เป็นพระโสดาบัน เป็นพระอรหันต์ เป็นต้น)

ในปัจจุบัน คำว่า คันถธุระ ได้ถูกประยุกต์สู่การเรียนที่เป็นตัวอักษรมาขึ้น นั่นคือ

1 พระปริยัติธรรม แผนกธรรม - แผนกบาลี จัดว่าเป็นแผนกที่ศึกษาหลักธรรมโดยตรง ซึ่งแยกกันดังนี้
   -แผนกธรรมศึกษา นักธรรม ชั้นตรี, ชั้นโท, ชั้นเอก
   -แผนกบาลี ศึกษาบาลีตั้งแต่ประโยค 1-2 (อ่านว่า ประ-โหยก-หนึ่ง-สอง), ป.ธ. 3-9
2 พระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา (การศึกษาสายสามัญ ชั้น ม.1-6)
3 การศึกษาระดับอุดมศึกษา (คือการศึกษาในมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งคือ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย) 

ในปัจจุบัน 2 ใน 3 แผนกนี้ ได้เปิดหลักสูตรให้คฤหัสถ์ทั่วไปได้เข้าเรียนด้วย กล่าวคือ
-ธรรมศึกษา ชั้นตรี, ชั้นโท, ชั้นเอก
-บาลีศึกษา ประโยค 1-2, ป.ธ. 3-9
-ในระดับมหาวิทยาลัยก็เหมือนกับหลักสุตรของบรรพชิต 

นับว่าการศึกษาทางด้านพระปริยัติธรรมเปิดกว้างมากยิ่งขึ้น เป็นอย่างมาก จากที่ในอดีตกาลเป็นการศึกษาสำหรับพระภิกษุสามเณร ต่อมาก็ขยายไปสู่โลกภายนอกมากยิ่งขึ้นซึ่งจะทำให้มีผู้ได้เข้ามาเรียนรู้และนำไปปฏิบัติให้ถูกต้องได้มากยิ่งขึ้น 

บล็อกต่อไปจะขอกล่าวเพิ่มเติมในส่วนของการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกสามัญ (ม.1-6) เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ขอให้ติดตามอ่านดู เพื่อจะได้เข้าใจอย่างถ่องแท้และเข้าใจหลักสูตรการศึกษา หรือการเรียนการสอน ของพระภิกษุสามเณรว่า จัดการเรียนรู้อย่างไรที่ทำให้ "บัวไม่ช้ำ น้ำไม่ขุ่น" นี่แหละที่เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาของพระสงฆ์หรือที่เรียนว่า โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น