รับสมัครนักเรียน โรงเรียนพระปริยัติธรรม

โรงเรียนพุทธิวงศ์วิทยา วัดพระแก้ว จังหวัดเชียงราย รับสมัครนักเรียน เพื่อศึกษาต่อ ตั้งแต่ระดัง ม.1-6 ประจำปีการศึกษา 2556 ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

สถานที่รับสมัคร
1 โรงเรียนพุทธิวงศ์วิทยา วัดพระแก้ว
2 วัดพระแก้ว จ.เชียงราย บริเวณเต้น ใกล้กับหอวัตถุมงคล

ผู้ปกครอง หรือนักเรียนที่สนใจสามารถติดต่อได้

การอบรมเข้มบาลีก่อนสอบ ปีพ.ศ.2556



การอบรมเข้มบาลีก่อนสอบ ปีพ.ศ.2556


มาถึง ณ ตอนนี้ เราได้ทราบกันแล้วว่า ทางสำนักงานเจ้าคณะภาค 6 ได้มีกำหนด การอบรมเข้มบาลีก่อนสอบ ปีนี้มาแล้ว ว่า จะเริ่มการอบรมกันตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธุ์ - 5 มีนาคม พ.ศ.2556 โดยใช้สถานที่ ณ โรงเรียนพุทธิวงศ์วิทยา วัดพระแก้ว อ.เมือง จ.เชียงราย เหมือนปีที่ผ่านๆ มา

การศึกษา พระพุทธศาสนา

การอบรมครั้งนี้ มีการอบรมนักเรียน โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกบาลีศึกษา ในเขตการปกครอง คณะสงฆ์ภาค 6 ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดต่างๆ 5 จังหวัดคือ ลำปาง เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน โดยจะมีนักเรียนเข้าร่วม ตั้งแต่ระดับชั้น ประโยค 1-2 และ ปธ.3 - 4 เข้าร่วม จำนวนทั้งสิ้น 154 รูป และมีคณะวิทยากร ทั้งจากสำนักเรียนต่างๆ ในส่วนภูมิภาคแล้ว ยังมีวิทยากรซึ่งเป็นผู้สอบได้เปรียนเอก คือ ป.ธ. 7-9 จากส่วนกลาง คือ กรุงเทพมหานคร มาร่วมให้ความรู้ รวมทั้งสิ้น 35 รูป

โครงการ การจัดอบรมเข้มดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นมาก็ด้วย พระเดชพระคุณ พระธรรมราชานุวัตร เจ้าคณะภาค 6 ได้จัดขึ้น เพื่อเป็นการส่งเสริม การเรียนการสอนภาษาบาลี แก่นักเรียนภายในเขตปกครอง เพื่อเพิ่มโอกาสในการได้พบปะกับครูอาจารย์ ผู้ช่ำชองในภาษาบาลี จากส่วนต่างๆ ซึ่งจะทำให้นักเรียนเอง ก็จะมีโอกาสในการสอบได้เปรียญต่างๆ ตามที่ตนเองประสงค์ได้มากขึ้นอีกด้วย


โครงการยุติธรรมสู่พระพุทธศาสนา

โครงการยุติธรรมสู่พระพุทธศาสนา


ในวันนี้ ทางโรงเรียนพุทธิวงศ์วิทยา วัดพระแก้ว จ.เชียงราย ได้มีโอกาสเข้าร่วมกับโครงการของกระทรวงยุติธรรม  ชื่อว่า "โครงการยุติธรรมสู่พระพุทธศาสนา" เพื่อเป็นการเข้ารับการอบรมความรู้ทางด้านกฎหมาย ซึ่งนับว่าเป็นโอกาศดีอย่างยิ่ง 

วันนี้ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2556 โรงเรียนพุทธิวงศ์วิทยา ได้นำนักเรียน จำนวน 200 รูป เข้าร่วมรับฟังการบรรยายด้านกฎหมาย จากหน่วยงานของกระทรวงยุติธรรม ที่ได้จัดไว้ ทำให้นักเรียน ได้เรียนรู้นอกห้องเรียนได้อีกอย่างหนึ่ง โดยจัดขึ้น ณ ห้องประชุมวััดพระแก้ว ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่เวลา 08.30 - 16.30 น.

กำหนดการมีดังนี้

08.30 - .9.00 น. ลงทะเบียน/แนะนำโครงการ  โดย สนง.ยุติธรรมจัวหวัดเชียงราย
09.00 - 09.30 น. พิธีเปิด  โดย พระรัตนมุนี รองเจ้าอาวาสวัดพระแก้ว, รองเจ้าคณะจังหวัดเชียงราย
09.30 - 10.00 น. บรรยายพิเศษ เรื่อง "บทบาทพระสงฆ์กับการเผยแพร่ความรู้งานยุติธรรม" บรรยายโดย โดย พระรัตนมุนี
10.00 - 11.15 น. เรื่อง พรบ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ  โดย สนง. คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยฯ

12.00 - 13.00 น. กฎหมายเบื้องต้นทั่วไป โดย นางสาวสุพิน หมั่นคิด ที่ปรึกษากฎหมาย สำนักงานยุติธรรมจังหวัดเชียงราย
13.00 - 13.30 น. บทบาทภารกิจ ของสำนักงานยุติธรรมจังหวัดเชียงราย  โดย สำนักงานยุติธรรมจังหวัดเชียงราย
13.30- 14.30 น. บทบาทภารกิจหน้าที่ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม  โดย สนง.คุมประพฤติฯและสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาชน
14.30 - 14.45 น. น้ำปานะ
14.45 - 16.15 น. บทบาทภารกิจหน้าที่ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม (ต่อ) โดย สนง.บังคับคดีฯ, เรือนจำกลางเชียงราย และเรือนจำอำเภอเทิง

16.15 - 16.30 น. พิธีปิด

ซึ่งในขณะนี้ นักเรียนและครู ของโรงเรียนพุทธิวงศ์วิทยา ส่วนมาก ก็เข้าร่วมรับฟัง การถวายความรู้ ทางด้านกฎหมายดังกล่าว อย่างพร้อมเพรียงกัน ทั้งนี้ ยกเว้นนักเรียนชั้น ม. 6 เพราะมีภาระต้องเข้ารับการติวเข้มก่อนสอบ O-NET อยู่ เนื่องจากจะต้องเข้าสอบในวันที่เสาร์และอาทิตย์ที่จะถึงนี้แล้ว


พระธรรมเทศนา "มงคลชีวิต"



พระธรรมเทศนา

เรื่อง มงคลชีวิต

แสดง ณ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย
เมี่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๐
โดย สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานิสฺสรมหาเถร ป.ธ.๙)
ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมปิฎก

*******************
มงคลชีวิต, มงคล 38

ณ โอกาสบัดนี้ ทุกท่านมีความรู้สึกว่า ปีเก่าได้ผ่านไป ปีใหม่เริ่มขึ้นมาแทน ตามที่ทราบกันโดยทั่วไป เป็นดังนี้ เมี่อถึงวันใหม่เดือนใหม่ปีใหม่เช่นนี้ ควรที่จักได้พิจารณาว่า เราจักดำเนินชีวิตประกอบกิจเช่นไร จึงจักได้รับความสุขกายสบายจิต พ้นวิกฤติการณ์ พ้นจากความเดือดร้อนวุ่นวายหลายประการที่ผ่านมาในรอบปีเก่า ในหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ทรงประทานแนวปฏิบัติ แก่พุทธบริษัทไว้ว่า อตีตํ นานฺวาคเมยฺย สิ่งที่ล่วงแล้วไม่ควรคำนึงถึง เรื่องดีเรื่องร้าย เรื่องได้เรื่องเสีย เหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้ว จะเป็นสถานใดประการใดก็ตาม ไม่ควรคำนึงถึง ไม่ควรใส่ใจหรือเก็บเป็นอารมณ์ค้างไว้ เพราะเหตุว่าจะครุ่นคิดคนึงถึงสักปานใด สิ่งนั้น ๆ ก็กลับมาอีกไม่ได้ เสียเวลาคิดเสียการเสียงานที่จะต้องทำ นปฺปฏิกงฺเข อนาคตํ ไม่ควรตั้งความหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง สิ่งที่ยังไม่มี สิ่งที่ยังไม่เป็น สิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น อย่าหวังว่า จักเป็นอย่างนั้น จักเป็นอย่างนี้ หรือต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เสียเวลาคิด เสียเวลาตรึก เสียเวลานึก เพราะเมื่อถึงเข้าอาจเป็นอื่นหรือเป็นอย่างอื่นได้ ไม่เป็นไปตามที่หวังตั้งใจไว้ ย่อมเกิดความทุกข์ระทมใจ เศร้าสลดหดหู่ เพราะสิ้นหวัง ปจฺจุปฺปนฺนญฺจ โย ธมฺมํ ตตฺถ ตตฺถ วิปสฺสติ ส่วนผู้ที่เห็นเหตุปัจจุบันประจักษ์ เข้าใจเหตุนั้น ๆ โดยถ่องแท้แล้วแก้ที่เหตุนั้น ๆ โดยอุบายอันแยบคาย ผู้เช่นนี้นับว่าเป็นผู้มีราตรีและวันอันเจริญ พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญผู้ปฏิบัติบำเพ็ญปัจจุบันธรรมคือผู้ที่แก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้า พิจารณาเฉพาะปัจจุบันแล้วสร้างสรรค์ให้เกิดความเจริญ นี้แล เหตุแห่งความเจริญนั้น สมเด็จพระจอมธรรม์ทรงแสดงแก่ทวยเทพที่เข้าไปทูลถาม ตรัสว่า มงคล ๓๘ ประการ คือเหตุเป็นเครื่องให้ถึงความเจริญแก่ผู้ปฏิบัติ จักได้พรรณนาโดยย่อพอเป็นแนวทางเป็นลำดับไป

อันบุคคลผู้ปรารถนาหาความสุข จำจะต้องประพฤติปฏิบัติให้ชอบให้ถูก จึงจะประสบความสุขที่ประสงค์นั้นได้ ธรรมดาบุคคลผู้อยู่ในโลกจะอยู่คนเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยพึ่งพาผู้นั้นบ้างผู้นี้บ้าง ทั้งในด้านกิจการงานและความเป็นอยู่ ความที่ต้องเกี่ยวเนื่องกับบุคคลนี้ ย่อมมีทั้งที่ดีทั้งที่ชั่ว ย่อมให้เกิดความสุขความเจริญก็มี ย่อมให้เกิดความทุกข์ความเสื่อมเสียหายก็มี ด้วยเหตุนี้ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสแสดงเหตุอันเป็นมงคลที่เนี่องด้วยบุคคลอื่น คือการคบหาสมาคมกับบุคคลทั้งหลายที่จะได้ประโยชน์ และให้หลีกหนีจากโทษเพราะการคบหาสมาคมนั้น ว่า อเสวนา จ พาลานํ เป็นต้น คือไม่ให้คบคนชั่ว ให้คบแต่คนดีเป็นมิตร การคบคนชั่วย่อมเป็นการเสียหายอย่างใหญ่ เพราะนำไปสู่ความชั่วความทุกข์มีประการต่าง ๆ มีตัวอย่างที่จะพึงเห็นเป็นอเนก การคบคนตีย่อมเป็นศรีแก่ตัว เพราะนำผลคือให้ถึงความสุขความเจริญ ฉะนั้น การคบหาสมาคมกับบุคคล จึงจะต้องเลือกว่าควรหรีอไม่ควรเพียงไรเป็นประการต้น นอกจากการคบหาสมาคมแล้วยังจักต้องรู้จักการสักการะนับถือบูชาผู้ที่ควรบูชาหรือสิ่งที่ควรบูชาอีกโสดหนึ่ง ได้แก่ บิดามารดา เป็นต้น ตลอดถึงท่านผู้มีพระคุณแก่ตน ๆ เพราะท่านเหล่านั้นเป็นผู้มีคุณควรบูชา ฉะนั้น จึงตรัสสอนให้บูชาบุคคลและวัตถุที่ควรบูชา ถ้าบุคคลไม่รู้จักบูชาบุคคลที่ควรบูชา ก็เป็นผู้ไร้มารยาท ขาดความประพฤติดีงาม ไม่เป็นที่พึงปรารถนาของบุคคลทั้งหลาย ปูชนียวัตถุมีพระพุทธรูป พระสถูปเจดีย์ เป็นต้น ก็ควรเคารพบูชาวัตถุสถานที่นั้นซึ่งเป็นที่เคารพของบุคคลทั้งหลาย นับได้ว่าประพฤติสิ่งที่เป็นมงคลว่าด้วยการบูชาวัตถุควรบูชา

อันบุคคลที่จะถึงความเจริญ จะต้องอยู่ในท้องถิ่นที่เหมาะสมแก่พื้นฐาน เมื่อปรารถนากิจการอย่างใด มี การศึกษาเล่าเรียน ความดี ความเจริญตาเจริญใจ เป็นต้น ถ้าอยู่ในถิ่นที่ไม่เหมาะสม เช่น ปรารถนาจะศึกษาแต่อยู่ในถิ่นที่เหินห่าง ปรารถนาจะประกอบอาชีพ แต่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร ก็ย่อมไม่ได้รับผลสมประสงค์ ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงยกย่องการอยู่ในปฏิรูปเทศคือถิ่นฐานที่สมควรว่าเป็นเหตุแห่งความเจริญประการหนึ่ง ผู้ที่จะอยู่อาศัยในปฏิรูปเทศได้นั้น ก็ต้องอาศัยบุญกุศลคุณความดีที่สร้างสมอบรมไว้ในชาติก่อน ซึ่งท่านบัญญัติเรียกว่า ปุพฺเพ กตปุญฺญตา ความเป็นผู้มีบุญกุศลที่ตนทำมาแล้วในปางก่อน จึงได้เกิดมีภาวะเป็นเช่นนี้ จะต้องพยายามส่งเสริมชนกกรรมที่สร้างมาก่อมาดีแล้วนั้นให้ดียิ่งขึ้นไปด้วยความเป็นผู้ตั้งตนไว้ชอบประกอบในสัมมาปฏิบัติ ละข้อที่ควรละ เจริญข้อที่ควรเจริญ บำเพ็ญข้อที่ควรบำเพ็ญ ให้เป็นไปด้วยดีโดยชอบ ประกอบเหตุแห่งความสุขในกาลต่อไป

อนึ่ง บุคคลจำต้องมีเครื่องประดับตนด้วยวิทยาความรู้ความสามารถและคุณสมบัติ ถ้าหากขาดวิทยาการเป็นเครื่องประดับตน ก็จะพึงเป็นคนตกต่ำ ฉะนั้น ในวาระเบื้องต้น ต้องตั้งใจศึกษาเล่าเรียนหมั่นสดับตรับฟังสิ่งที่ควรรู้ควรสนใจให้มีความรู้ในศิลปะวิทยาการนั้น ๆ สิ่งเหล่านั้นย่อมเป็นอลังการเครื่องประดับสำหรับตน ให้เป็นผู้มีสง่าราศรี และตนเองก็ต้องฝึกฝนตนให้เป็นเครี่องศึกษาปฏิบัติตนให้ชอบด้วยระเบียบวินัยนั้น ๆ และการที่จะเจรจาปราศรัยกับบุคคลใด ๆ ก็จะต้องกล่าววาจาที่ไพเราะพอเหมาะพอดี กล่าวแต่วาจาที่เป็นสุภาษิต เป็นคำสัตย์ประกอบด้วยอรรถธรรม มีประโยชน์ไม่มีโทษด้วยวาจา คุณสมบัติเหล่านี้ย่อมเป็นเครื่องประดับประดาบุคคลผู้กล่าวให้งามอยู่เป็นนิจ

อันบุคคลทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ ล้วนอาศัยบิดามารดาเป็นผู้ให้กำเนิดจึงเกิดมาได้ ใช่แต่เท่านั้น ยังต้องอาศัยการอุปการะเลี้ยงดูทะนุถนอมให้เจริญวัยขึ้นมาโดยลำดับ และให้การศึกษาเล่าเรียนศิลปะวิทยาการตามฐานานุรูปจนสามารถเลี้ยงตนได้ ด้วยเหตุนี้ บุตรธิดาทุกคนจึงควรเปลื้องหนี้ที่สำคัญ อันท่านบุพการีคือบิดามารดาได้ทำไว้แล้ว แก่ตน โดยเฉพาะด้วยการสนองพระคุณเลี้ยงดูท่านจนเต็มความสามารถ ทั้งตนเองก็จะต้องสงเคราะห์บุตรภรรยาหรือสามีของตนให้เป็นไปโดยชอบ ไม่สักแต่เป็นบิดามารดา ไม่สักแต่เป็นสามีภรรยา และจะต้องประกอบการงานของตนให้มั่นคง ให้สำเร็จตามที่ประสงค์ ไม่ให้อากูลคั่งค้าง จักได้เป็นกำลังเลี้ยงตน เลี้ยงครอบครัว เลี้ยงบิดามารดา เลี้ยงบุตรภรรยา หรือสามีให้เป็นสุข ด้วยอาศัยการงานที่ชอบประกอบด้วยธรรมนั้น ๆ

อนึ่ง ทรัพย์สมบัติที่ตนหามาได้แล้วนั้น ย่อมหมดสิ้นไปเพราะการใช้สอย และในที่สุดตนก็จะละทรัพย์สมบัติเหล่านั้นไป ไม่สามารถเป็นเจ้าของปกครองไว้ได้ตลอด ฉะนั้น ในการที่จะยึดถือสาระแห่งโภคทรัพย์ของตน ให้เป็นไปด้วยดี ก็จะต้องบำเพ็ญทานเป็นการเผี่อแผ่เฉลี่ยความสุขแก่บุคคลอื่นให้สำเร็จผล ไม่เป็นบุคคลที่เพียงแต่มีทรัพย์ไว้เพี่อประดับตนเท่านั้น การให้ทานด้วยเมตตากรุณาให้สำเร็จประโยชน์แก่ผู้อี่นนั้นได้ชื่อว่านำทรัพย์สมบัติอันไม่มีสาระให้เป็นสาระขึ้นได้ด้วยอำนวยประโยชน์สุขแก่บุคคลทั้งหลาย และพยายามทำชีวิตของตนอันไม่มีสาระเพราะเพียงที่จะมรณะในอวสานมีระยะกาลที่เป็นไปได้ไม่เท่าไรนักให้เป็นสาระขึ้นได้ เป็นผู้มีชีวิตเป็นอยู่ประกอบด้วยประโยชน์ ด้วยการประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นธรรมสุจริตและประกอบกิจญาติสังคหะ คือ เกื้อกูลสงเคราะห์คนที่เกี่ยวเนื่องเป็นญาติเป็นสายโลหิต ทั้งใกล้และห่างไกลตามฐานานุรูปและโอกาสอันสมควร และพยายามที่จะสงเคราะห์เผื่อแผ่เป็นสาธารณ-ประโยชน์แก่บุคคลทั่ว ๆ ไป ตลอดจนปลูกต้นไม้ให้ร่มเงาเป็นที่พักอาศัยสร้างถนนหนทางให้เป็นที่สะดวกแก่ผู้สัญจรไปมา หรือสร้างศาลาที่พักผ่อนในระหว่างทาง สร้างโรงพยาบาลและโรงเรียน เป็นต้น นี้ชื่อว่า อนวัชชกรรม การงานที่ไม่มีโทษสำเร็จประโยชน์แก่บุคคลทุกชั้น อนึ่ง อันธรรมดาบุคคลถ้าไม่มีอะไรเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งบังคับไว้ก็มักจะนิยมไปในทางที่ชั่ว ฉะนั้น จึงต้องประคองกายวาจาจิตของตน ด้วยการงดเว้นจากบาปคือความชั่ว อันเป็นที่ตั้งแห่งความมัวหมอง คือ กรรมกิเลส ๔ ประการ ได้แก่ ปาณาติบาต เบียดเบียนชีวิตผู้อื่นด้วยไม่มีกรุณา อทินนาทาน เบียดเบียนทรัพย์สมบัติของผู้อื่นด้วยแสวงหาไม่ชอบ กาเมสุ มิจฉาจาร เบียดเบียนคู่ครองผู้อื่นด้วยเป็นคนมักมากในกามารมณ์ และมุสาวาท กล่าวความเท็จอันเป็นการเบียดเบียนประโยชน์ของผู้อื่นด้วยวาจา และพยายามที่จะงดเว้นการเบียดเบียนตนด้วยการสำรวม ได้แก่ ไม่ดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย เพราะน้ำเมานั้นเป็นวิสัยเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท และพยายามที่จะตั้งตนไว้ในคุณสมบัติด้วยไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย อันกุศลธรรมเป็นส่วนน้อยก็ไม่พึงประมาท ก่อสร้างสะสมเพียงคราวละน้อย ครั้งละน้อยก็จะไพบูลย์ไปด้วยคุณธรรมความดียิ่ง ๆ ขึ้นไป

อนึ่ง พึงเป็นผู้เคารพมั่นในคุณพระศรีรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ พึงมีคารวะบากบั่นในสิกขาคือการศึกษาอันเป็นไปตามแนวการศึกษาในธรรมวินัย ศึกษาในศีล รักษากายวาจาให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยด้วยดี ศึกษาในสมาธิ อบรมจิตใจให้เป็นไปโดยชอบอันเป็นทางให้เกิดปัญญา และฝึกฝนปัญญาให้แก่กล้ายิ่งขึ้น มีความเคารพมั่นในความไม่ประมาท และเห็นความสำคัญในปฏิสันถารการต้อนรับผู้มาหาให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ยิ้มแย้มแจ่มใสให้สมกับผู้มาหามาเคารพมาติดต่อด้วยประการนั้น ๆ และเป็นผู้ประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่เย่อหยิ่งจองหอง มีความสงบเสงี่ยมเจียมตน เรียบร้อยอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม ความประพฤติสงบเสงี่ยมเรียบร้อยนี้ เป็นเหตุให้ตั้งอยู่ในคุณสมบัติเป็นที่ตั้งแห่งความเคารพรักของบุคคลทั่วไป และนอกจากนั้น พึงเป็นผู้สันโดษยินดีในพัสดุสิ่งของของตนตามมีตามได้ ไม่โลภไม่ทะเยอทะยานเกินแก่ฐานะที่ตนจะพึงได้พึงปรารถนา และเป็นผู้มีกตัญญุตา ความเป็นผู้มีกตัญญูรู้คุณท่านผู้มีพระคุณ ตนได้รับอุปการะจะมากหรือน้อยก็ตามจากผู้ใด หาโอกาสสนองคุณท่านผู้นั้นเท่าที่สามารถจะสนองได้ โดยรู้สึกว่าตนเป็นหนี้บุญคุณท่านอยู่เสมอ โอกาสที่จะพึงสดับธรรมได้ขณะใดก็หาโอกาสสดับตรับฟังในขณะนั้น เพราะการฟังธรรมนั้นย่อมมีอานิสงส์คือทำจิตใจให้ผ่องใส ปราศจากความทุกข์ที่มีอยู่ในภายใน ทำความรู้ความเข้าใจให้ถูกต้อง ทั้งจะได้ความรู้ในทางปฏิบัติ ทั้งเป็นเครื่องเรืองปัญญาและเป็นเครื่องประดับความรู้ของตน

อนึ่ง บุคคลผู้อยู่ในโลกจะต้องกระทบกระทั่งกับเหตุการณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือความกระทบกระทั่งกับบุคคลอื่น ๆ เพราะบุคคลมีอัธยาศัยไม่เสมอกัน แม้บุคคลผู้อยู่ในบ้านเรือนเดียวกันยังผิดพ้องหมองใจกันได้ ฉะนั้น ขันติ ความอดทน จึงเป็นคุณธรรมอันจำปรารถนา ซึ่งจะต้องมีเป็นเครื่องประดับสำหรับคนทุกคน เพื่อที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยในชุมชนนั้น ๆ

อนึ่ง บุคคลเมื่อถึงคราวจำจะต้องพึ่งพาอาศัยบุคคลอื่นให้เป็นที่พึ่งพำนัก แต่การที่จะพึ่งบุคคลอื่นได้นั้นก็ด้วยคุณงามความดีของตนเป็นมูลฐาน ความเป็นผู้ว่าง่าย เป็นอลังการให้บุคคลมีเมตตากรุณาที่จะให้เป็นที่พึ่งพักพิงอาศัย ทำตนให้เป็นผู้มีที่พึ่งไม่เป็นคนอนาถา อนึ่ง สมณะผู้ทรงศีลในธรรมวินัยเป็นผู้ทรงคุณสมุทัยอันควรเคารพสักการะ เพราะสมณะเป็นผู้สืบทอดพระศาสนา จะไปในที่ใดก็ไม่ไปร้ายไม่ไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นสัตว์อื่น จะมาในที่ใดก็มาชอบ ฉะนั้น การเห็นสมณะการเข้าไปนั่งใกล้การสนทนาปราศรัยการปฏิบัติบำรุงเป็นมงคลแก่ผู้พบเห็น

อนึ่ง ความรู้ธรรมแตกฉานย่อมเป็นเหตุให้เกิดความรู้ในทางธรรม การสนทนาหาความรู้ย่อมเป็นเหตุให้เกิดความแจ่มแจ้งยิ่งขึ้นไป ฉะนั้น การสนทนาธรรมตามกาลสมัย จึงเป็นเหตุให้เกิดความเจริญ

อนึ่ง กิเลสเป็นไฟเครื่องเผาผลาญอัธยาศัยของบุคคลให้เร่าร้อนอยู่เป็นนิจ ความเพียรพยายามที่จะให้กิเลสหมดไปเป็นเหตุที่ควรบำเพ็ญ ให้ค่อยเป็นค่อยไป เมื่อกิเลสที่เร่าร้อนปราศไปจากตน ก็จักเป็นคนเยือกเย็นเป็นสุขสงบ นี้เป็นตบะอันหนึ่งซึ่งบุคคลควรบำเพ็ญให้เป็นไป และเมื่อมีอัธยาศัยแก่กล้าในธรรมปฏิบัติ พึงเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ เมื่อปฏิบัติประณีตสูงขึ้นโดยลำดับ ตั้งแต่อบรมศีล สมาธิ ปัญญา ประกอบด้วยวาสนาบารมีแก่กล้ายิ่งขึ้น ในปัจฉิมชาติ ก็จะได้ตรัสรู้ได้เห็นอริยธรรมทั้ง๔ประการ เมื่อเห็นอริยสัจโดยถ่องแท้อย่างนี้แล้วก็จะทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานซึ่งเป็นมงคลอันสูงสุด

เมี่อบุคคลถึงความสิ้นกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน จิตใจก็ผ่องใสเบิกบานบริสุทธิ์ โลกธรรมทั้ง ๘ อย่าง คือ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์ ไม่สามารถจะครอบงำจิตใจบุคคลนั้นได้ เป็นจิตไม่เศร้าโศก ผ่องใสอยู่เป็นนิจ เป็นจิตที่ปราศจากธุลีมีราคะเป็นต้น มีความเกษมความโปร่งไม่เศร้าหมองเพราะพ้นกิเลสโดยประการทั้งปวง นรชนทั้งหลายผู้อยู่ในโลกนี้ประพฤติปฏิบัติมงคลคือเหตุเป็นเครื่องถึงความเจริญ ๓๘ ประการ มีไม่คบคนชั่วเป็นมิตร คบท่านที่เป็นบัณฑิตคือคนดี เป็นต้น ดังกล่าวมาเช่นนี้ ย่อมเป็นผู้ไม่ปราชัยพ่ายแพ้ข้าศึกศัตรูทุกหมู่เหล่า ทั้งภายในและภายนอก ในที่ทุกสถาน ย่อมถึงความสวัสดีคือความปลอดภัย ในที่ที่ตนอยู่อาศัยในที่ที่ตนไปเพื่อการใด ๆ ทั้งมวล โดยสมควรแก่ข้อปฏิบัติ นี้จึงเป็นมงคลอันสูงสุดของทวยเทพและมวลมนุษย์ทั้งหลาย

ที่มา : สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย

กลุ่ม ปส.เชียงราย รับเสด็จฯ



กลุ่ม ปส.เชียงราย รับเสด็จฯ


กลุ่มโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา จังหวัดเชียงราย ได้เตรียมการถวายการต้อนรับ สมเด็จแม่ของโรงเรียนพระปริยัติธรรม ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ศกนี้

ตามที่ สมเด็จพระเทพฯ ได้ทรงรับเอาโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา เข้าอยู่ใน โครงการในพระราชดำริแล้ว พระองค์ได้เอาพระทัยใส่โดยตลอด ทุกปี จะมีการเสด็จเยี่ยมเป็นการส่วนพระองค์ ปีละ 1-2 โรงเรียน ตามสมควร ในปีใน ได้เสด็จไปที่ โรงเรียนวัดหนองบัววิทยา ต.แม่เจดีย์ อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2556

นับว่า ช่วงนี้ เป็นช่วงเวลาแห่งความน่าปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง สำหรับบุคลากรของโรงเรียนพระปริยัติธรรม เพราะการที่พระองค์ได้เสด็จมาแต่ละครั้ง ก็เป็นช่วงเวลาที่ทำให้ บรรดาผู้เกี่ยวข้อง ได้ร่วมมือร่วมใจกัน ในการจัดเตรียมงานต่างๆ พร้อมนี้ ก็ได้เห็นความร่วมมือของบรรดา ผู้บริหารโรงเรียนพระปริยัติธรรม และผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งหลาย ได้ไปรวมตัวกันและช่วยกันจัดเตรียมงาน

ในส่วนของ โรงเรียนพุทธิวงศ์วิทยา ก็มี พระครูศรีรัตนากร ผอ. โรงเรียน ในฐานะของ ผู้ทรงคุณวุฒิ ของกลุ่ม รร.ปส.เชียงราย ก็ได้ไปเยี่ยมและช่วยในการให้คำปรึกษาเรื่องต่างๆ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

การเป็นโรงเรียนภายใต้ โครงการพระราชดำริ ทำให้ได้รับการสนับสนุน ในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น ด้านวิชาการ ด้านสุขภาพอนามัย และ แนวทางในการพัฒนาโรงเรียนต่างๆ ในฐานะที่เป็นโรงเรียน พระปริยัติธรรม แผนกสามัญได้อีกมาก ดังนั้น การเสด็จเยี่ยม ของพระองค์ครั้งนี้ จึงนำมาซึ่งความปลาบปลื้มยินดี ต่อบุคลากรของโรงเรียนและผู้เกี่ยวข้อง ในพระมหากรุณาธิคุณครั้งนี้ เป็นย่างยิ่ง